ข่าวสารและกิจกรรม
...
สรรพสามิตเปิด "QR โค้ด” เช็คบุหรี่เถื่อน
ผลกระทบจากบุหรี่เถื่อน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้เปิดตัวระบบคิวอาร์โค้ด “QR บุหรี่” ทำให้สามารถติดตามและแกะรอย (Track & Trace) ผลิตภัณฑ์ยาสูบว่าเป็นสินค้าที่ได้เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการนำระบบตรวจสอบติดตามและแกะรอย (Track & Trace) หรือ “QR บุหรี่” มาใช้นั้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และยกระดับการดำเนินงานที่โปร่งใสสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล สำหรับ QR บุหรี่ ผู้ประกอบการในประเทศเริ่มใช้ได้เลย ส่วนผู้ประกอบการต่างประเทศให้ระยะเวลาปรับตัว 1 ปี และระยะต่อไปจะใช้ QR ในสุราส่วนเทคโนโลยีนี้จะเป็นการติดตามข้อมูลตั้งแต่ ณ สถานที่ผลิต ไปจนถึงผู้บริโภค และนำข้อมูลทั้งหมดมาสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีและแหล่งที่มาของบุหรี่ว่าเป็นบุหรี่ที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์โดยกรมสรรพสามิตแล้วหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นบุหรี่ที่ได้มาตรฐานและไม่เป็นของปลอม ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค  “แสตมป์สรรพสามิตในปัจจุบันนั้น มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการปลอมแปลงที่ทันสมัยใกล้เคียงกับการพิมพ์ธนบัตร และยังมี Unique QR code และ Unique Serial Number ที่มีรหัสไม่ซ้ำกันบนดวงแสตมป์ในแต่ละดวงแสตมป์เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนตรวจสอบข้อมูลบนดวงแสตมป์นั้นได้ โดยในการตรวจสอบว่าเป็นสินค้าบุหรี่ซิกาแรตที่ชำระภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ประชาชนทำได้โดยการนำโทรศัพท์มือถือสแกน QR Code บนดวงแสตมป์สรรพสามิต ซึ่งจะแสดงข้อมูลต่าง ๆ ปรากฎขึ้น อาทิ ตราสินค้า รายละเอียดสินค้า ชื่อผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า วันที่ชำระภาษี สถานที่จัดส่ง และราคาสินค้า หากเช็คว่าข้อมูลเหล่านี้ ตรงตามกับสินค้าที่กำลังจะซื้อหรือไม่หากพบว่าข้อมูลของสินค้ากับข้อมูลที่ปรากฎไม่ตรงกัน ผู้ซื้อก็ควรหลีกเลี่ยงการซื้อ เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต” ช่องทางการแจ้งเบาะแสบุหรีผิดกฎหมาย 👉 แจ้งเบาะแสผ่านสมาคมการค้ายาสูบไทย http://ttta.or.th/report-form   ขอบคุณที่มา https://www.thairath.co.th/

อ่านต่อ
...
ความร่วมมือจากพวกเราเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนได้
ผลกระทบจากบุหรี่เถื่อน

ปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายหรือบุหรี่เถื่อนในประเทศไทยไม่ใช่แค่เรื่องภายในประเทศเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและการค้าระหว่างประเทศ การกวดขันจับกุมในประเทศจึงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากบุหรี่ผิดกฎหมายที่วางขายในประเทศไทย เช่น บุหรี่หนีภาษีและบุหรี่ปลอม ส่วนใหญ่ถูกลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนามและมาเลเซีย บุหรี่เหล่านี้มักถูกนำเข้ามาทางเส้นทางชายแดนทางบกและทะเล รวมถึงการซุกซ่อนและสำแดงข้อมูลการนำเข้าเป็นเท็จ หรือแม้กระทั่งใช้วิธีการนำเข้าในรูปแบบสินค้าผ่านแดนเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ก่อนจะกระจายไปทั่วประเทศเพื่อจำหน่ายให้กับผู้สูบบุหรี่ ผ่านช่องทางออนไลน์ และร้านค้าบุหรี่ผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายระดับ เช่น การสร้างข้อตกลงในการสกัดกั้นการส่งออกสินค้าบุหรี่ผิดกฎหมายจากประเทศต้นทาง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งผลิตและเส้นทางลักลอบนำเข้าเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบ ทางออกของการแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อน จึงจำเป็นต้องจัดการกับประเทศต้นทาง ร่วมมือกับรัฐบาลที่เป็นต้นทางของบุหรี่เถื่อนเหล่านี้ สร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อเพื่อป้องกันและจำกัดการเคลื่อนย้ายสินค้าผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นทาง ร่วมกับการเพิ่มความเข้มงวดในการจับกุมปราบปราม สกัดกั้นการกระจายสินค้า ทลายเครือข่ายลักลอบนำเข้า โกดังสินค้า และร้านค้าบุหรี่ผิดกฎหมายทั้งที่ขายออนไลน์และเปิดหน้าร้านขายสินค้า และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ในการสะท้อนปัญหา แจ้งเบาะแส เพื่อสนับสนุนข้อมูลในการทำงานด้านการจับกุมปราบปรามให้กับเจ้าหน้าที่   ดังนั้น ความร่วมมือจากร้านค้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อต้านการค้าบุหรี่เถื่อน หากพบเห็นหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับการค้าบุหรี่ผิดกฎหมาย ท่านสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ 👉 ช่องทางการแจ้งเบาะแสของสมาคมการค้ายาสูบไทย http://ttta.or.th/report-form 👉 สายด่วนกรมสรรพสามิต 1713 หรืออีเมล์ excise_hotline@excise.go.th 👉 Website แจ้งเบาะแส กรมสรรพสามิต แจ้งเบาะแส กรมสรรพสามิต 👉 ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย สายด่วนโทร 1567   

อ่านต่อ
...
วันนวมินทรมหาราช
วันสำคัญ

13 ตุลาคม "วันนวมินทรมหาราช" วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สถิตในใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม  ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สมาคมการค้ายาสูบไทย

อ่านต่อ
...
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกัน .... แจ้งเบาะแส “การซื้อขายบุหรี่ผิดกฎหมาย”
ข่าวสารเพื่อสมาชิก

ปัญหาการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ผิดกฎหมาย ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ตก นอกจากรัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีนำเข้าแล้ว ยังกระทบต่อรายได้ของร้านค้าปลีกที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมาย  สมาคมการค้ายาสูบไทย (สคยท.) ได้เปิดช่องทางรับแจ้งเบาะแส “การซื้อขายบุหรี่ผิดกฎหมาย” ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสหรือพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับ “การซื้อขายบุหรี่ผิดกฎหมาย” สามารถแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางออนไลน์ที่ https://ttta.or.th/report-form ข้อมูลที่ประชาชนแจ้งเบาะแสเข้ามานั้น จะถูกนำไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขยายผล เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดในอนาคตต่อไป สำหรับช่องทางดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทางสมาคมฯหวังว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของร้านค้าปลีกที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายลงได้ไม่มากก็น้อย 

อ่านต่อ
...
ปิดสวิตซ์บุหรี่เถื่อน! อุตสาหกรรมยาสูบผนึกกำลังร้องนายกเศรษฐาเร่งปราบปราม เผยบุหรี่เถื่อนสูงถึง 25% ทำรัฐเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ข่าวสารเพื่อสมาชิก

อุตสาหกรรมยาสูบผนึกกำลังร้องนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนโดยด่วน ชี้ตลาดตอนนี้เป็นบุหรี่เถื่อนไปแล้วกว่า 1 ใน 4 เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ร้านค้า แรงงาน เกษตรกรทุกข์หนัก โอดต้องให้อดตายไร้หนทางทำกินก่อนหรือไม่รัฐบาลถึงจะรับรู้ปัญหา ขอใช้ 31 พฤษภาคมเป็นวันงดสูบบุหรี่เถื่อน เพื่อให้สังคมน่าอยู่และปลอดภัย สมาคมการค้ายาสูบไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “รวมพลังปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย: เศรษฐกิจมั่นคง สังคมปลอดภัย” ขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกปัญหาบุหรี่เถื่อนเป็นวาระแห่งชาติ ประกาศแนวทางการปราบปรามและเพิ่มโทษให้รุนแรง เพราะกระทบความเป็นอยู่ชาวไร่ยาสูบมานานหลายปี ภายในงาน นายสุเทพ ทิมศิลป์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบได้เปิดเผยสถิติที่น่าตกใจจากการสำรวจการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายล่าสุด ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2567 ที่แสดงว่าประเทศไทยมีสัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายถึง 25.5% หรือ 1 ใน 4 ของตลาด สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจมา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี สมาคมการค้ายาสูบไทย โดย นางสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหาร ชี้บุหรี่เถื่อนจะลดได้หากปิดช่องโหว่ของกฎหมาย เรียกร้องให้รัฐกวดขันกับ 3 ช่องทางลักลอบนำเข้าหลัก ได้แก่ 1) ช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งต่อไปยังโกดังรวมของจุดใหญ่ ๆ ตามภูมิภาคผ่านรถและพัสดุไปรษณีย์ 2) ทางทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ขนถ่ายจากเรือใหญ่สู่เรือประมงขนาดเล็ก มีต้นทางหลักคือเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย และ 3) ขนส่งผ่านเขตฟรีโซน เช่น แหลมฉบัง อาศัยช่องว่างทางกฎหมายศุลกากร โดยระบุปลายทางสินค้าเป็นประเทศที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และนำกลับเข้ามากระจายในประเทศไทย หากจัดการได้จะเป็นการลดการทุจริตภายในประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในท่อน้ำเลี้ยงของการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียนด้วย ด้านภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พวกตนเรียกร้องให้รัฐจัดการบุหรี่ผิดกฎหมายมานานหลายปี เพราะชาวไร่ยาสูบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับความเดือดร้อนโดนตัดโควตาการปลูกจากการยาสูบฯ แม้ในปัจจุบันจะได้โควตาคืนมาบ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าการยาสูบฯ จะสามารถรับซื้อใบยาและปรับราคาเพิ่มได้เหมือนในฤดูกาลปลูกนี้อีก เพราะธุรกิจบุหรี่ซึ่งเป็นธุรกิจหลักได้ถูกบุหรี่ผิดกฎหมายช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดไปแล้วถึง 1 ใน 4 คิดเป็นกว่า 8,000 – 9,000 ล้านมวน หากเปลี่ยนเป็นบุหรี่ถูกกฎหมายจะเทียบเท่ากับใบยา กว่า 6.4 – 7.2 ล้านกิโลกรัม หรือกว่าครึ่งของใบยาที่เราขายให้กับการยาสูบฯ ในปัจจุบัน  “พวกเราประกอบอาชีพทำยามากว่า 3 ชั่วอายุคน ยาสูบทำให้ครอบครัวมีรายได้ที่มั่นคงมาตลอด แต่ยุคนี้เรามองไม่เห็นว่าอนาคตในอีก 3 ปี 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่มีแนวทางแน่ชัดอะไรจากรัฐบาลในการปราบปรามบุหรี่เถื่อนที่เป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมตอนนี้นอกเหนือจากการไล่จับร้านค้ารายย่อย แต่ไม่เคยสาวไปถึงต้นตอของขบวนการ ไม่เคยจับได้คาตู้คอนเทนเนอร์  พวกเราเชื่อว่าบุหรี่เถื่อนลดได้หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน แต่ควรมีนโยบายที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อทำให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายปราบปรามอย่างจริงจัง และเร่งประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นทางอีกด้วย”

อ่านต่อ
...
ส.ค้ายาสูบไทยหนุนรัฐขึ้นบัญชีผู้ค้า หลังพบ “บุหรี่เถื่อน” เกลื่อนออนไลน์ เพิ่มขึ้น 181% จี้รัฐจัดการภัยออนไลน์ และขยายผลเครือข่ายทั่วประเทศ
ข่าวเด่น

สมาคมการค้ายาสูบไทย จี้หน่วยงานภาครัฐและแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นบัญชีเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์อย่างเข้มงวด เชื่อเทคโนโลยีสาวถึงต้นทางได้ หลังผลสำรวจบุหรี่เถื่อนออนไลน์ พบการสนทนาซื้อ-ขายเติบโตถึง 181% ในช่วง 6 เดือน ปัจจัยหลักเน้นที่ราคาถูก รสชาติดี มีลูกเล่น และหาซื้อง่าย ชี้ปัจจุบันร้านบุหรี่เถื่อนออนไลน์ทั้ง เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูป เว็บบอร์ด เว็บไซต์ และขยายไปขายบน “ติ๊กต็อก” ตามเทรนด์ชาวเน็ตไทย หวั่นกระทบร้านค้าปลีกถูกกฎหมาย เยาวชนเข้าถึงง่าย ชี้การขายบุหรี่เถื่อนออนไลน์ได้ไม่คุ้มเสีย นางสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า การขายบุหรี่เถื่อนบนช่องทางออนไลน์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบน “X (ทวิตเตอร์)” ที่ผู้ขายมีการลงโพสต์สินค้าเพื่อสั่งซื้อผ่านข้อความส่วนตัว (Direct Message) และไลน์ นอกจากนี้ ร้านค้าเหล่านี้ยังระบุว่าได้ขยายหน้าร้านไปบน “ติ๊กต็อก” ด้วย แม้ว่าพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 จะห้ามขายทางช่องทางออนไลน์อย่างชัดเจน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ “สมาคมฯ สำรวจพบบทสนทนาเกี่ยวกับบุหรี่เถื่อนบนช่องทางออนไลน์ ในระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - เดือนธันวาคม 2566 พบมีบทสนทนาเพิ่มขึ้นกว่า 181% โดยช่องทางที่พูดถึงเรื่องบุหรี่เถื่อนมากที่สุด คือ X (ทวิตเตอร์) 93% เฟซบุ๊ก 5% และยูทูป 2 % ตามลำดับ คีย์เวิร์ดที่ถูกใช้มากที่สุด ได้แก่ ราคาถูก กลิ่นและรสชาติ ลูกเล่นของสินค้า นอกจากนี้เว็บไซต์ขายบุหรี่เถื่อนยังถูกค้นหาบน Google มากที่สุดจากจังหวัดสมุทรปราการ นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับผลสำรวจการบริโภคบุหรี่เถื่อนของอุตสาหกรรมยาสูบ ไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ระบุว่ามีอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนที่เติบโตมากกว่าเท่าตัวในกรุงเทพและปริมณฑล” สำหรับปัจจัยด้านราคานั้นยังคงพบว่าราคาขายถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายมากสะท้อนให้เห็นว่าหน้าร้านออนไลน์มีผลอย่างยิ่งกับการบริโภคบุหรี่เถื่อนของคนไทย ที่ปัจจุบันในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 22.6% แล้ว ที่สำคัญการซื้อบุหรี่เถื่อนบนโลกออนไลน์ ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผู้ขายก็ไม่มีการตรวจสอบอายุผู้ซื้อก่อนขายให้ “สมาคมฯ ขอเป็นตัวแทนร้านค้าบุหรี่ถูกกฎหมายกว่า 500,000 ร้านทั่วประเทศไทย เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงดิจิทัลฯ สำรวจและขึ้นบัญชีร้านค้าออนไลน์ และเร่งบังคับใช้กฎหมายกับการขายบุหรี่เถื่อนทั้งที่มีหน้าร้านและร้านค้าออนไลน์อย่างเข้มงวด รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ต้องมีนโยบายปกป้องสังคมจากการขายสินค้าผิดกฎหมาย เพราะร้านค้าบุหรี่ถูกกฎหมาย ไม่ควรจะมาสูญเสียรายได้ให้กับเครือข่ายบุหรี่เถื่อนออนไลน์ที่เติบโตอย่างมากทั่วประเทศ หากปล่อยไว้เช่นนี้จะทำให้ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ และสะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการทุจริตคอรัปชันอีกด้วย”

อ่านต่อ
...
สมาคมการค้ายาสูบไทย ปลื้มมหาดไทยเอาจริงปราบบุหรี่เถื่อน เผยจังหวัดชายแดนใต้บุหรี่เถื่อนยังหนัก กระทบภาษีมหาดไทย
ข่าวสารเพื่อสมาชิก

สมาคมการค้ายาสูบไทยขอบคุณหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการปราบบุหรี่เถื่อนในภาคใต้ ทั้งการบุกทลายร้านขายบุหรี่เถื่อน 3 ร้านดังในเมืองหาดใหญ่ รวมถึงการร่วมจับบุหรี่เถื่อนที่อยู่ระหว่างการลักลอบนำเข้าทางทะเลกว่า 1,000 ลัง มูลค่ากว่า 31 ล้านบาทเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้ขยายผลการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องจากทุกหน่วยงานต่อไป นางสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผย สถานการณ์บุหรี่เถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรุนแรง การจับกุมและยึดของกลางที่ปรากฏตามหน้าสื่อเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของจำนวนบุหรี่เถื่อนทั้งหมดในประเทศไทยเท่านั้น โดยเดือนกรกฎาคม 2566 ผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต พบคดีเกี่ยวกับยาสูบมากถึง 641 คดี ของกลาง 154,305 ซอง ปรับไปทั้งสิ้น 18.37 ล้านบาท และเข้าสู่เดือนสิงหาคมเพียงไม่กี่วันก็ยึดบุหรี่เถื่อนจากทะเลใต้ได้อีกกว่า 1,000 ลัง คิดเป็นค่าปรับกว่า 31 ล้านบาท มากกว่าเดือนกรกฎาคมทั้งเดือน หากดูข้อมูลย้อนหลังในปีงบประมาณ 64 – 65 ทั้งปี มีคดีการจับกุมเพิ่มขึ้นกว่า 32% และจำนวนซองที่จับกุมได้มีมากขึ้นถึง 460% จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สัดส่วนการบริโภคบุหรี่เถื่อนของไทยในปัจจุบันจะหยุดอยู่แค่ 10.3% ซึ่งเป็นตัวเลขจากการสำรวจในปี 2564 ด้วยเหตุนี้ สมาคมฯ จึงพยายามเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ขอให้ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่สูญเสียรายได้โดยตรงจากการจัดเก็บภาษีของการค้าขายบุหรี่ถูกกฎหมาย จริงจังกับการปราบปรามบุหรี่หนีภาษีเพราะกระทบต่อรายได้ของร้านค้าโชห่วยจำนวนมาก และสมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ขยายผลดำเนินคดีสืบสาวถึงต้นตอของขบวนการ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย  เพิ่มบทลงโทษ ปิดช่องโหว่การกระทำผิด ให้ความรู้แก่เยาวชน และพัฒนาระบบการเฝ้าระวังบุหรี่เถื่อนในพื้นที่ เพื่อลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษี มิเช่นนั้น จำนวนการดำเนินคดีที่เพิ่มขึ้นจะไม่สะท้อนถึงความสำเร็จและความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด เพราะแนวโน้มการบริโภคบุหรี่เถื่อนในไทยไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา “ทราบกันดีว่าภาษีจากบุหรี่ถูกนำไปพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ เช่น กีฬา สุขภาพ และสื่อมวลชน แต่น้อยคนจะรู้ว่ามีอีก 10% ที่ถูกนำส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย จึงเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับปัญหาบุหรี่เถื่อนเพราะกระทบรายได้ของกระทรวงมหาดไทยและท้องถิ่นโดยตรง เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์บุหรี่เถื่อนทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันเช่นนี้ย่อมส่งผลถึงการพัฒนาส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

อ่านต่อ
...
ชี้ปัญหาใต้พรมของการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่
ข่าวเด่น

ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก วันที่ 31 พฤษภาคม ในปีนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับอันตรายจากควันยาสูบเพื่อพัฒนาสุขภาวะของผู้สูบบุหรี่ บุคคลรอบข้าง รวมถึงผู้ไม่สูบบุหรี่ในประเทศไทยผ่านมาตรการที่เข้มงวดเสมอมา เพราะบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (Non-Communicable Disease หรือ NCD) ที่คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 72,000 คน โดยโรคที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญ อันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพที่เห็นเป็นที่ประจักษ์นี้ทำให้มาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบได้รับการยอมรับและถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกับบุหรี่มวนที่ผลิตจากโรงงานทั้งในประเทศและผ่านการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายจากผู้ผลิตต่างชาติ ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่มีผลให้บุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานต้องปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และมีภาพคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายด้านสุขภาพ รวมถึงห้ามมีการสื่อสารและโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในส่วนของร้านค้าปลีก มีการกำหนดอายุผู้ซื้อและผู้ขาย การตั้งแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่หน้าร้านและการแบ่งมวนขายแบบในอดีตก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้สูบบุหรี่ เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ และตัวผู้สูบเองก็ต้องแบกรับภาระด้านราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร ปี 2564 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในประเทศไทยมีผู้บริโภคยาสูบที่อายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งหมดกว่า 9.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้บริโภคยาเส้น 4,608,837 คน คิดเป็นกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมด ซึ่งยาเส้นนั้นมีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานเพราะจำเป็นต้องมีการจุดไฟเผาเพื่อการบริโภคอยู่ แต่มาตรการต่างๆ ที่มีต่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า ร้านค้าปลีก รวมถึงผู้บริโภคบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานกลับไม่ได้ถูกนำไปใช้กับยาเส้นในมาตรฐานเดียวกัน ยาเส้นถูกจัดเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย ทำให้มีการเก็บภาษีต่ำกว่าบุหรี่มาก ราคาของยาเส้นจึงถูกกว่าบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานมาก และมีการวางขายได้ทั่วไปอย่างอิสระตามร้านค้าชุมชนเพราะความเข้มงวดของกฎระเบียบยังไม่เท่าเทียมกับบุหรี่มวน สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มุ่งจะยกระดับสุขภาวะของคนไทยถูกบังคับใช้กับการบริโภคยาสูบเพียง 50% ของประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ ตามรายงานประจำปีฉบับล่าสุดของการยาสูบแห่งประเทศไทยปี 2565 ระบุว่าจำนวนบุหรี่ผิดกฎหมายในตลาดเพิ่มขึ้นถึง 70% โดยคิดเป็นสัดส่วนการบริโภคกว่า 10.3% ในปี 2564 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากบุหรี่เถื่อนจะถูกพบได้ทั่วไปตามหน้าร้านที่ไม่ได้มีใบอนุญาตแล้ว ยังแพร่ระบาดบนเว็บไซต์ออนไลน์ และโซเชียลมีเดียด้วย โดยการสำรวจในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2565 ที่ผ่านมา พบบทสนทนาเกี่ยวกับการซื้อขายบุหรี่เถื่อนบนโซเชียลมีเดียโตขึ้นถึง 97% ซึ่งการแพร่ระบาดของบุหรี่เถื่อนนี้เป็นบ่อนทำลายประสิทธิผลของมาตรการควบคุมยาสูบทั้งมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ชัดเจนว่ามาตรการควบคุมที่เข้มงวดกับบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานอย่างถูกกฎหมายและร้านค้าที่ขายบุหรี่อย่างถูกกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้เลยกับยาเส้นและบุหรี่ที่ผิดกฎหมาย ตอกย้ำถึงปัญหาที่ซ่อนเร้นของมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่ตอบโจทย์ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ปัญหาบุหรี่เถื่อนไม่ได้เป็นความท้าทายต่ออุตสาหกรรมยาสูบไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นความท้าทายต่อนานาประเทศที่ใช้กลไกด้านภาษีมาลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ตามแนวทางที่ได้รับจากกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Conventional on Tobacco Control: FCTC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เช่นกัน โดยในปีนี้จะมีการจัดประชุมรัฐภาคี (Conference of the Parties หรือ COP) ของกรอบอนุสัญญาครั้งที่ 10 ขึ้นที่ประเทศปานามา รวมถึงการประชุมประเทศสมาชิกของพิธีสารเพื่อกำจัดการค้าที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ ครั้งที่ 3 เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการปราบปรามบุหรี่เถื่อนให้มีประสิทธิภาพด้วย การเลือกประเทศปานามาเป็นสถานที่จัดประชุมระดับโลกครั้งนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นที่จะนำปัญหาบุหรี่เถื่อนขึ้นมาถกเถียงกันอย่างเปิดเผยเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายหลักในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมให้กับกรอบอนุสัญญาฯ มากกว่าการลงนามที่ไม่มีข้อผูกมัดเช่นในอดีต La Estrella สื่อท้องถิ่นของปานามารายงานว่าปานามาเปรียบเสมือนศูนย์กลางของการส่งออกบุหรี่เถื่อนไปสู่ตลาดใต้ดินทั่วโลก ในปี 2022 การบริโภคยาสูบกว่า 92% ของปานามาเป็นการบริโภคบุหรี่เถื่อน ซึ่งคิดเป็น 9 ใน 10 ส่วนของการบริโภคยาสูบทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ปานามายังส่งออกบุหรี่เถื่อนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในทวีปอเมริกาและประเทศอื่นๆ ถึงกว่า 8 พันล้านมวนต่อปี เมื่อมีการขับเคลื่อนจากองค์กรระดับโลกแล้วก็คงถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องตอบรับและปรับมาตรการควบคุมยาสูบให้เหมาะกับบริบทภายในประเทศด้วยมาตรฐานที่เท่าเทียมกับทุกผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีความอันตรายไม่ต่างกัน รวมถึงขยายการบังคับใช้สู่บุหรี่เถื่อนที่มีสัดส่วนการบริโภคมากกว่า 10% ด้วย เพราะชัดเจนแล้วว่าการบังคับใช้มาตรการแบบสองมาตรฐานส่งผลเสียกับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานเท่านั้น ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมใดๆ และไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอแม้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้บริโภคยาสูบของไทยคงที่มานาน การลงนามในพิธีสารเกี่ยวกับการต่อต้านการค้าบุหรี่ผิดกฎหมาย หรือความพยายามในการสร้างระบบแกะรอยติดตามจึงอาจจะยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะเป็นการบังคับใช้แต่ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ ขณะที่การลักลอบค้าบุหรี่ผิดกฎหมายไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายใดๆ แต่สามารถตีตลาดของการยาสูบแห่งประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย เมื่อไม่พูดถึงปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมก็คงไม่อาจบรรลุเป้าหมายทางสาธารณสุขของประเทศในระยะยาวได้ ขอบคุณที่มา: https://www.khaosod.co.th/

อ่านต่อ

สมัครสมาชิก

สำหรับผู้ประกอบกิจการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ หรือวิสาหกิจ ในทางการค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับการค้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยตรง อัตราค่าลงทะเบียนแรกเข้า 200 บาท และค่าบำรุงสมาคม 100 บาท / 2 ปี (ปีละ 50 บาท เก็บทุกๆ สองปี)

สมาชิกประเภทวิสามัญ สำหรับผู้มีความสนใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับยาสูบหรือ ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือ ผู้ประกอบวิสาหกิจในทางการค้า อุตสาหกรรม หรือการเงิน การขนส่งยาสูบ หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือธุรกิจใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับยาสูบ หรือ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ อัตราค่าลงทะเบียนแรกเข้า 1,000 บาท และค่าบำรุงสมาคม 1,000 ต่อปี

แจ้งเบาะแสบุหรี่ผิดกฎหมาย

พบเห็นการซื้อขายบุหรี่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งผ่านช่องทางออนไลน์ของทางสมาคม และสมาคมจะนำข้อมูลเหล่านี้ยื่นต่อหน่อยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ผู้ที่แจ้งเบาะแสสามารถติดตามผลการแจ้งได้โดยใส่รหัสอ้างอิงที่ได้รับ

แจ้ง
เบาะแส