ศรชล. ภาค 2 เปิดปฏิบัติการปราบปราม 'บุหรี่เถื่อน' แนะรัฐอุดช่องโหว่กฎหมาย

ศรชล. ภาค 2 เผยขบวนการบุหรี่เถื่อน พลิกกติกาฟอกดำเป็นขาว จับได้บิ๊กล็อต แต่ติดข้อกฎหมายเอาผิดไม่ได้เต็มที่ ทำรัฐสูญรายได้มหาศาล แนะรัฐบาลเร่งสังคายนาอุดช่องโหว่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ศรชล.ภาค 2 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง เปิดเผยสถานการณ์การลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนทางทะเลว่า บุหรี่เถื่อนเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามประเภทหนึ่งตามกรอบภัยคุกคามทางทะเล 9 ด้าน ของ ศรชล. และเป็นหน้าที่ของ ศรชล. ภาค 2 อยู่แล้วในการป้องกันและปราบปรามทางทะเลโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เน้นการปราบปรามอย่างเข้มข้น ภายหลังขบวนการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ จากอดีตเป็นการลำเลียงในลักษณะกองทัพมด ใช้เส้นทางธรรมชาติตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
แต่ปัจจุบันได้ลุกลามมาตามแนวทะเลภาคใต้และขนกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขนถ่ายทางทะเลแบบล็อตใหญ่ ผ่านเทคนิคการสำแดงว่าเป็นสินค้าที่กำลังส่งไปยังประเทศที่ 3 แต่กลับมีการขนย้ายใส่เรือประมงขนาดเล็กกลางทะเล เพื่อลักลอบนำกลับเข้ามาขายในประเทศไทย ส่งผลให้การแพร่ระบาดของบุหรี่ขยายเป็นวงกว้างขึ้น
ทั้งนี้ สถิติการจับกุมเรือเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2566 ศรชล. ภาค 2 ได้ตรวจพบบุหรี่ผิดกฎหมายล็อตใหญ่ จำนวน 1,000 ลัง รวม 10 ล้านมวน และเมื่อ ต.ค. ปี 2567 มีการจับกุมได้อีกจำนวน 528 ลัง หรือกว่า 5,280,000 มวน (ในใบสำแดง 1,050 ลัง หายไปจากใบสำแดง 522 ลัง) ซึ่งรูปแบบการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การติดตามจับกุมทำได้ยากกว่าอดีต โดยทำในลักษณะสินค้าผ่านแดนจากประเทศต้นทางมาทางบก ก่อนขนลงเรือโดยผ่าน 2 ท่าเรือหลัก เพื่อไปยังประเทศปลายทาง ในระหว่างที่ขนส่งบนบกจะมีเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่หลังจากที่นำลงเรือและเรือแล่นออกไปแล้ว สินค้าจะไปถึงปลายทางหรือไม่ ไม่มีหน่วยงานไหนจะตรวจสอบได้ การจับกุมจึงยากขึ้น เพราะพื้นที่การตรวจสอบไม่ใช่เพียงแค่บริเวณท่าเรือ แต่เรือที่บรรทุกสินค้าออกไป สามารถขนสินค้าได้ตลอดชายฝั่ง
สำหรับการจับบุหรี่เถื่อนล็อตใหญ่เมื่อปี 2566 ของ ศรชล. ภาค 2 นั้น เป็นเพราะเรือได้แล่นเข้าสู่ท่าเรือ จึงควบคุมเรือได้ทั้งลำ การจับกุมทางทะเลถือว่ายากกว่าทางบกค่อนข้างมาก เพราะการที่เรือแล่นอยู่ในทะเล หากผู้กระทำความผิดทราบเบาะแสว่า มีเรือของทหารเรือแล่นออกมาสามารถหลบหลีกได้ เนื่องจากเรือแล่นในทะเลเป็นไดนามิก เลยทำให้การขนถ่ายทำได้ง่าย และสามารถขนได้คราวละมากๆ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของบุหรี่เถื่อนมีมากขึ้น แม้ว่าทางทหารเรือจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้จับกุม หรือใช้เครื่องมือที่มีในการตรวจจับ แต่อีกฝ่ายก็มีวิธีการที่จะหลบหลีกอยู่เสมอ ทั้งโดยการใช้เครื่องมือหรือวิธีการต่างๆ
ขณะที่ประเด็นการติดตามเอาผิดกับกระบวนการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนนั้น ก่อนที่จะมีการขนถ่ายบุหรี่เถื่อนทุกครั้ง ทางศรชล. ภาค 2 จะมีข้อมูลว่า เรือลำนี้มีสินค้าประเภทใดบ้างและต้องรู้วงรอบของการเดินเรือ ที่สำคัญต้องคำนวณความเร็วของเรือแต่ละลำที่จะแล่นไปยังประเทศที่ 3 แต่หากไม่สอดคล้องกับเวลาที่คำนวณ เบื้องต้นให้สันนิษฐานว่า เรือลำนี้กระทำความผิด มีการขนถ่ายสินค้าระหว่างทางแน่นอน ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ข้อมูลบริษัท ข้อมูลเจ้าของเรือว่ามีเรือในสังกัดกี่ลำ ตลอดจนธุรกิจเครือญาติ เพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติภารกิจในแต่ละครั้ง
ในส่วนของอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ คือ กฎหมายบางฉบับยังมีช่องโหว่ ทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้ เช่น กรณีที่จับกุมบุหรี่เถื่อน 1,000 ลัง พร้อมรถที่กำลังจะขนย้ายบุหรี่ 8 คัน โดยมีการขนบุหรี่ขึ้นรถคันแรกแล้ว 30 ลัง ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่ได้ขนขึ้นรถ ปรากฏว่า บุหรี่ที่อยู่ในเรือทั้งหมดไม่สามารถเอาผิดได้ ในส่วนนี้ไม่ทราบเช่นกันว่า จะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อีกหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถประกันเรือของกลางออกไปได้ด้วย ทำให้ผู้กระทำผิดอาจสามารถเอาเรือออกไปกระทำความผิดต่อได้ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมาย ซึ่งหากมีการดำเนินคดีกับกรณีนี้ได้ จะมีโทษปรับถึงสี่พันกว่าล้านบาท ในอนาคตจึงอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง หรือเจตนาของผู้กระทำความผิด
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ผู้กระทำความผิดก็ทำทุกทาง เพื่ออาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้สิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งศรชล. ภาค 2 เป็นหน่วยงานใหม่ การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดรายใหญ่ต้องทำเอง แต่ยอมรับว่า ความชำนาญในการดำเนินการบนชั้นศาลยังไม่มีความชำนาญเท่ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ในส่วนของการประสานงานกับหน่วยงานอื่นในการจับกุมบุหรี่เถื่อนที่ผ่านมา ยังมีปัญหาเรื่องการจับกุมร่วม เพราะต่างคนต่างก็มีอำนาจของตัวเอง
หากมี พ.ร.บ. หรือคำสั่งการใดๆ ที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามบุหรี่ในพื้นที่ต้องให้ความร่วมมือตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นการดำเนินคดีในชั้นศาล จะทำให้การปราบปรามมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องการให้มีงบประมาณในด้านการข่าว เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกด้วย หากมองว่าบุหรี่เถื่อนเป็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะเป็นการลักลอบนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศทางผ่านไปยังประเทศปลายทาง ศรชล. ยืนยันว่า ได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเคยทำหนังสือไปยังศูนย์ประสานงานชายแดนไทย-มาเลเซีย เคยประสานผ่านสำนักงานผู้ช่วยทูตที่อยู่ในประเทศปลายทาง เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าประเภทบุหรี่ ซึ่งได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากส่วนหนึ่ง
ในปี 2568 ศรชล. ภาค 2 มีแนวทางในการป้องกันและปราบปรามบุหรี่เถื่อน โดยจะยังคงมุ่งเน้นไปในพื้นที่ที่ได้รับข่าวสารสำคัญเป็นพิเศษตามที่หน่วยข่าวได้แจ้งมา ก่อนออกเรือไปค้นหาและจับกุม และจะมีการเพิ่มวงรอบการออกเรือตรวจสอบที่มากขึ้น เพื่อเป็นการป้องปรามสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย ซึ่งคาดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ศรชล. ในภาพรวมจะมีประสิทธิภาพและมีผลงานเพิ่มขึ้นจากปี 2567
ขอบคุณภาพและที่มา
ข่าวน่าสนใจ

วิกฤตบุหรี่เถื่อน เมื่อนโยบายผิดพลาด เปิดช่องตลาดมืด
ผลกระทบจากบุหรี่เถื่อนนโยบายการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นของรัฐบาล โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพและการป้องกันเยาวชน แม้จะได้ใจประชาชนอยู่บ้าง แต่ก็กำลังสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่า นั่นคือการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการค้าบุหรี่เถื่อน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายมหาศาลต่อรายได้ภาษีของรัฐ แต่ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศ เพราะการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าคือการผลักดันให้ผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการนิโคติน หันกลับไปหา "บุหรี่มวน" แต่ไม่ใช่บุหรี่มวนที่ถูกกฎหมาย หากแต่เป็น "บุหรี่เถื่อนราคาถูก" ที่หาซื้อได้ง่ายขึ้นอย่างน่าตกใจ แถมยังมีกลิ่นและรสชาติที่ตรงใจผู้สูบบุหรี่มากกว่า ข้อมูลการสำรวจซองบุหรี่เปล่าประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ที่เปิดเผยโดยสมาคมการค้ายาสูบไทยชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนการบริโภคบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นเป็น 28.1% เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าเมื่อไตรมาส 3 ปี 2567 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 25.4% โดย สตูล สงขลา พัทลุง ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ยังคงครองแชมป์จังหวัดที่มีการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงสุดในประเทศ การแพร่ระบาดของบุหรี่เถื่อนส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากบุหรี่เหล่านี้ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีมหาศาลมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ควรนำมาพัฒนาประเทศและดูแลสุขภาวะของประชาชน นอกจากนี้ บุหรี่เถื่อนมักไม่มีการควบคุมคุณภาพการผลิต ทำให้มีสารพิษเจือปนในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายหลายเท่า ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้สูบและผู้ใกล้ชิดในระยะยาว ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ การค้าบุหรี่เถื่อนในปัจจุบันได้ย้ายฐานมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันซื้อขายสินค้าทั่วไป ผู้ค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านจริง และหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ได้ค่อนข้างสะดวก รูปแบบการซื้อขายที่หลากหลายและราคาที่ถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย บวกกับการเติบโตของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการรับ-ส่งสินค้า ที่เข้ามาเสริมเรื่องความสะดวกสบายในการส่งของให้ถึงหน้าบ้าน ทำให้บุหรี่เถื่อนแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่เข้าถึงช่องทางออนไลน์เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย เป็นที่น่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า แต่กลับดูเหมือนจะละเลยและมองข้ามปัญหาการค้าบุหรี่เถื่อนที่กำลังเติบโตอย่างน่าเป็นห่วง และเช่นเดียวกันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ที่มีหน้าที่ดูแลและปิดกั้นเนื้อหาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์ ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีมาตรการที่เด็ดขาดและเป็นรูปธรรมในการจัดการกับเว็บไซต์และบัญชีโซเชียลมีเดียที่ลักลอบค้าบุหรี่เถื่อนเหล่านี้ การเพิกเฉยต่อปัญหานี้เท่ากับการปล่อยให้ตลาดมืดเติบโตอย่างเสรี และเป็นการบั่นทอนความพยายามในการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศ สถานการณ์เช่นนี้ไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้อีกต่อไป จึงถึงเวลาแล้วที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้กุมบังเหียนการดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ และยังคงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเพื่อสานงานภายในกระทรวงอย่างต่อเนื่อง จะต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด ด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์และบัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้ในการค้าบุหรี่เถื่อนอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ทำงานร่วมกับบริษัทโซเชียลมีเดียและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้มีการจัดการกับบัญชีและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการค้าบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจัง รวมถึงชี้แจงถึงมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว และรายงานผลความคืบหน้าในการปราบปรามบุหรี่เถื่อนออนไลน์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาบุหรี่เถื่อนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม ไม่ใช่เพียงแค่การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น เพราะหากละเลยปัญหานี้ต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด และจะกลายเป็นวิกฤตสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่ยากจะแก้ไข ขอบคุณที่มา: https://siamrath.co.th
อ่านต่อ
บุหรี่เถื่อนทะลักพุ่งกว่า 28% 5 จังหวัดภาคใต้ครองแชมป์ วอนรบ.เร่งปราบ ส.ค้าบุหรี่จับตาปิดด่านเขมร เปลี่ยนวิธีขน
ผลกระทบจากบุหรี่เถื่อนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยตัวเลขบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศไทยพุ่งสูงถึง 28.1% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ภาคใต้ 5 จังหวัดยังครองแชมป์บุหรี่เถื่อนสูงสุด เรียกร้องรัฐบาลดำเนินมาตรการแข็งกร้าว เช่นเดียวกับที่ปราบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือร้านค้าโชห่วยภาคใต้ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ชาวไร่ยาสูบในภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งอยู่ต้นน้ำ และทวงคืนเงินภาษีที่หายไป ทั้งนี้จากการสำรวจซองบุหรี่เปล่าของอุตสาหกรรมยาสูบ พบว่า อัตราการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 อยู่ที่ 28.1% เพิ่มขึ้น 2.7% จากการสำรวจครั้งก่อนที่ 25.4% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท จังหวัดที่มีความชุกชุมของบุหรี่ผิดกฎหมายมากที่สุดยังอยู่ในภาคใต้ตอนล่าง โดยพบมากที่สุดในจังหวัด สตูล (94.4%) สงขลา (90.8%) พัทลุง (82.3%) ภูเก็ต (73.3%) และนครศรีธรรมราช (61.1%) อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ชายแดนเท่านั้น เพราะแม้แต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ยังคงติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แม้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 กรมสรรพสามิตจะปราบปรามผู้กระทำผิดได้มากขึ้น นางสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกคือ การสำรวจครั้งนี้พบบุหรี่เถื่อนจากประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งบุหรี่เหล่านี้มีต้นทุนต่ำ เมื่อถูกลักลอบนำเข้ามาขายในราคาถูก ก็ทำให้ร้านค้าถูกกฎหมายสู้ไม่ได้ เพราะบุหรี่เถื่อนสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแบ่งขาย โฆษณา ลดราคา หรือสั่งออนไลน์และส่งพัสดุตรงถึงบ้าน ผิดกับร้านค้าที่มีต้นทุนตั้งแต่การขอใบอนุญาตขายบุหรี่อย่างถูกต้องในทุกๆ ปี “สัดส่วนการบริโภคบุหรี่เถื่อน 28.1% นี้ คิดเป็นปริมาณบุหรี่ประมาณ 8,000 ล้านมวน มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 30,000 ล้านบาท ที่สูญหายไปกับการขาดรายได้ของชาวไร่ยาสูบมากกว่า 260 ล้านบาท รายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีอื่นๆ เกือบ 25,000 ล้านบาท และการขาดรายได้ของร้านค้ายาสูบที่ถูกกฎหมายอีกประมาณ 2,300 ล้านบาท” น.ส.ธัญญศรัณกล่าวว่า สมาคมการค้ายาสูบไทยตั้งข้อสังเกตว่า ต้องจับตาดูผลกระทบของการปิดชายแดนกัมพูชาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบุหรี่เถื่อนเหล่านี้มักถูกขนส่งเข้ามาผ่านจุดผ่อนปรน ช่องทางธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเลตลอดแนวชายแดน จันทบุรี ตราด และสระแก้ว แล้วส่งผ่านไปรษณีย์ไทยหรือขนส่งเอกชนกระจายไปทั่วประเทศ การปิดชายแดนอาจทำให้ขบวนการลักลอบปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลักลอบนำสินค้าเข้าสู่ประเทศ” “สมาคมขอเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการปราบปรามบุหรี่เถื่อนอย่างเด็ดขาดและจริงจัง เพื่อช่วยปกป้องผู้ค้าที่ทำถูกกฎหมายกว่า 400,000 รายทั่วประเทศที่เป็นของไทย โดยมีผลงานที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทบต่อพี่น้องประชาชนแต่ยังไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพราะตัวเลขที่ออกมาบอกชัดเจนว่าปัญหาถึงจุดวิกฤตแล้ว และเรารอต่อไปไม่ได้” ขอบคุณที่มา https://www.matichon.co.th/
อ่านต่อ
สรรพสามิตบุกจับร้านจำหน่ายบุหรี่เถื่อนในจังหวัดชลบุรี พบของกลางกว่า 26,000 ซอง ประมาณการค่าปรับกว่า 19 ล้านบาท พร้อมเผยผลปราบปรามรอบ 8 เดือน ปีงบประมาณ 2568
ผลกระทบจากบุหรี่เถื่อนกรมสรรพสามิตจับร้านจำหน่ายบุหรี่เถื่อน จ.ชลบุรี ยึดของกลางกว่า 26,000 ซอง คิดเป็นค่าปรับกว่า 19 ลบ. พร้อมเผยผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รอบ 8 เดือน พบคดีบุหรี่เถื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 31 กรมสรรพสามิต โดยสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ชลบุรี 1 เดินหน้าปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายภาษีสรรพสามิต ภายใต้นโยบาย “Zero Tolerance : สินค้าหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตต้องเป็นศูนย์” บุกจับร้านจำหน่ายบุหรี่เถื่อนในจังหวัดชลบุรี ยึดของกลางกว่า 26,000 ซอง คิดเป็นค่าปรับกว่า 19 ล้านบาท พร้อมเผยผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รอบ 8 เดือน (1 ตุลาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568) พบคดีบุหรี่เถื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 31.03 ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 เจ้าหน้าที่สรรพสามิต สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ชลบุรี 1 ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีร้านค้าลักลอบขายส่งบุหรี่ที่ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี โดยมีการจัดส่งสินค้าผ่านบริษัทขนส่งเอกชนไปทั่วประเทศเจ้าหน้าที่จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบร้านค้าแห่งหนึ่งมีพฤติการณ์ต้องสงสัยมีการจัดเตรียมและบรรจุกล่องพัสดุจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงวางแผนล่อซื้อโดยแฝงตัวเข้าใช้บริการภายในร้านดังกล่าว พบผู้ต้องหากำลังทำการบรรจุพัสดุเพื่อเตรียมส่งให้ผู้ซื้อ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นบุหรี่ที่ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวพร้อมแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จากการตรวจสอบภายในร้านพบกล่องพัสดุต้องสงสัยจำนวนมากภายในบรรจุบุหรี่ซิกาแรตที่ไม่ได้เสียภาษีรวมทั้งสิ้น 26,360 ซอง คิดเป็นค่าภาษีสรรพสามิต เป็นเงินจำนวน 1,279,850.86 บาท ประมาณการค่าปรับเป็นเงินจำนวน 19,197,762.90 บาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า "มีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษี" ตามมาตรา 204 และ "มีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษี" ตามมาตรา 203 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยได้ดำเนินการส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเสม็ด จังหวัดชลบุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ดร. กุลยาฯ กล่าวต่อว่ากรมสรรพสามิตดำเนินงานภายใต้นโยบาย “Zero Tolerance : สินค้าหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตต้องเป็นศูนย์” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการลักลอบจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้ยกระดับการทำงานเชิงรุกในทุกมิติ ทั้งการปราบปรามและสืบค้น นำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบการกระทำผิดผ่านศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ของกรมสรรพสามิต รวมถึงยังได้ผนึกกำลังกับหน่วยงานภายนอกเพื่อปราบปรามและจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 อย่างต่อเนื่อง ผลจากการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568) กรมสรรพสามิตสามารถปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้รวมทั้งสิ้น 24,550 คดี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.29 คิดเป็นค่าปรับ 568.98 ล้านบาท และประมาณการค่าปรับ 3,749.81 ล้านบาท แบ่งเป็น1. ยาสูบ จำนวน 10,966 คดี จำนวนของกลาง แบ่งเป็นยาสูบในประเทศ 382,680 ซอง และยาสูบต่างประเทศ 3,024,554 ซอง2. สุรา จำนวน 10,585 คดี จำนวนของกลาง แบ่งเป็นสุราในประเทศ 70,990.098 ลิตร และสุราต่างประเทศ 21,893.882 ลิตร3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 986 คดี จำนวนของกลาง 959,671.700 ลิตร4. รถจักรยานยนต์ จำนวน 846 คดี จำนวนของกลาง 3,661 คัน 5. ไพ่ จำนวน 392 คดี จำนวนของกลาง 19,119 สำรับ 6. เครื่องหอมและเครื่องสำอาง จำนวน 193 คดี จำนวนของกลาง 124,728 ขวด7. รถยนต์ จำนวน 187 คดี จำนวนของกลาง 951 คัน8. แบตเตอรี่ จำนวน 177 คดี จำนวนของกลาง 409,808 ก้อน9. เครื่องดื่ม จำนวน 141 คดี ของกลาง 56,324.092 ลิตร10. สินค้าอื่น ๆ จำนวน 77 คดีดร. กุลยาฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมสรรพสามิตจะเดินหน้าในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อขจัดปัญหาสินค้าหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิต ภายใต้นโยบาย “Zero Tolerance : สินค้าหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตต้องเป็นศูนย์” เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางภาษี และคุ้มครองประโยชน์ของรัฐ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมแจ้งเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่กรมสรรพสามิต สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วน 1713 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ www.excise.go.th โดยกรมสรรพสามิตจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป ขอบคุณที่มา: https://www.thaigov.go.th/
อ่านต่อ
ยึดบุหรี่เถื่อนลักลอบขนจากประเทศเพื่อนบ้าน
ผลกระทบจากบุหรี่เถื่อนการปราบปรามบุหรี่เถื่อนตามนโยบาย Zero Tolerance : สินค้าหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตต้องเป็นศูนย์”จับกุม ปราบปราม อย่างจริงจัง เป็นอีกนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ที่บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจสอบเส้นทางการขนส่งสินค้า ล่าสุดตำรวจน้ำจังหวัดตราด ตรวจยึดบุหรี่ลักลอบขนข้ามแนวเทือกเขาบรรทัดจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท เร่งขยายผลหาตัวผู้ร่วมขบวนการ
อ่านต่อสมัครสมาชิก
สำหรับผู้ประกอบกิจการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ หรือวิสาหกิจ ในทางการค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับการค้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยตรง อัตราค่าลงทะเบียนแรกเข้า 200 บาท และค่าบำรุงสมาคม 100 บาท / 2 ปี (ปีละ 50 บาท เก็บทุกๆ สองปี)สมาชิกประเภทวิสามัญ สำหรับผู้มีความสนใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับยาสูบหรือ ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือ ผู้ประกอบวิสาหกิจในทางการค้า อุตสาหกรรม หรือการเงิน การขนส่งยาสูบ หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือธุรกิจใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับยาสูบ หรือ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ อัตราค่าลงทะเบียนแรกเข้า 1,000 บาท และค่าบำรุงสมาคม 1,000 ต่อปี
แจ้งเบาะแสบุหรี่ผิดกฎหมาย
พบเห็นการซื้อขายบุหรี่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งผ่านช่องทางออนไลน์ของทางสมาคม และสมาคมจะนำข้อมูลเหล่านี้ยื่นต่อหน่อยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ผู้ที่แจ้งเบาะแสสามารถติดตามผลการแจ้งได้โดยใส่รหัสอ้างอิงที่ได้รับแจ้ง
เบาะแส