เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เพื่อให้คุณมั่นใจว่าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับเว็บไซต์ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด เรียนรู้เพิ่ม โดยคลิก นโยบายความเป็นส่วนตัว

ร้านขายของชำห้ามทำ 8 สิ่งนี้ หากไม่อยากโดนปรับ

27 ม.ค. 2565

วันนี้เราจะมาแชร์ความรู้เรื่อง 8 สิ่งที่ห้ามทำ ที่พ่อค้าแม่ค้าร้านโชห่วยบางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่าหากทำแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมายหรืออาจโดนปรับได้ ดังนั้นรู้ก่อน ก็ป้องกันได้ก่อน มีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ

  1. ห้ามขายบุหรี่ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

    ข้อปฏิบัติตามกฎหมาย สำหรับผู้ขายบุหรี่

    • ห้ามตั้งโชว์หรือวางแสดงบุหรี่ให้ผู้ซื้อหรือประชาชนมองเห็น หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

    • ห้ามขายบุหรี่ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี *หากสงสัยอายุผู้ซื้อ ผู้ขายมีสิทธิ์ขอดูบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ตรวจสอบอายุผู้ซื้อได้ และห้ามใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายบุหรี่ หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

    • ห้ามแบ่งขาย ต้องขายบุหรี่ทั้งซอง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

    • ห้ามโฆษณา ขายบุหรี่ ห้ามติดป้ายแสดงชื่อ และราคาขายบุหรี่ ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ที่อาจจูงใจให้ซื้อหรือบริโภค ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 40,000 บาท และเร่ขาย ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

  2. ห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ เกินเวลาที่กำหนด

    • ไม่ขายวันพระใหญ่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬบูชา เข้าพรรษา-ออกพรรษา

    • ร้านค้าสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สองช่วง คือ ช่วงกลางวัน เวลา 11.00-14.00 น. ช่วงเย็น เวลา 17.00-24.00 น.

    • ไม่ส่งเสริมการขาย โดยการลดราคา แจก แถม ชิงรางวัล หรือจับฉลากให้หรือแลกกับสินค้าอื่น ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    • ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  3. ห้ามจำหน่ายตาชั่ง ตวง วัด หากไม่มีใบอนุญาต

    ในการจะจำหน่ายเครื่องชั่ง ตวงวัด จะต้องทำการขอหนังสือประกอบธุรกิจ จากสำนักชั่งตวงวัด ศูนย์ชั่งตวงวัด หรือสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดเขต ที่มีอำนาจในจังหวัดที่สถานที่ประกอบธุรกิจตั้งอยู่ หากจําหน่ายโดยไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท มาตรา ๖๘ ผู้ใดประกอบธุรกิจตามมาตรา ๑๗ โดยไม่มีหนังสือรับรองการประกอบ ธุรกิจ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

  4. ห้ามจำหน่ายยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน

    ยาอันตรายที่ห้ามจำหน่ายในร้านของชำ

    • ยาปฏิชีวนะ / ยาแก้อักเสบ

    • ยาแก้ปวด

    • ยาหยุดถ่าย

    • ยาฆ่าพยาธิ

    • ยาควบคุมพิเศษ

    หากขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

    • กลุ่มยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ – ยาเม็ดหรือยาน้ำลดกรดอะลูมินาแมกซีเนีย / ยาธาตุน้ำแดง / ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ / ยาผงฟู่แก้ท้องอืด / ยาเม็ดหรือยาน้ำบรรเทาอาการเนื่องจากกรดไหลย้อน

    • กลุ่มยาแก้ท้องเสีย – ยาแก้ท้องเสียผงน้ำตาลเกลือแร่ / ยาผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย

    • กลุ่มยาระบาย – ยาระบายแมกนีเซีย / ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ ชิดสวนทวาร

    • กลุ่มยาบรรเทาอาการปวกกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย – ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง

    • กลุ่มยาแก้แพ้ลดน้ำมูก – ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน

    • กลุ่มยาแก้ไอขับเสมหะ – ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะ / ยาแก้ไอน้ำดำ

    • กลุ่มยา ยาดมหรือ ทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก – ยาดมแก้คัดจมูก / ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูก ชนิดขี้ผึ้ง

    • กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ – ยาเม็ดไดเมนไฮดริเนท

    • กลุ่มยาสำหรับโรคปาก และลำคอ – ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ

    • กลุ่มยาสำหรับโรคผิวหนัง – ยารักษาหิดเหา / ยาทาแก้ผดผื่นตันคาลาไมน์

    • กลุ่มยาใส่แผล ล้างแผล – ยาทิงเจอร์ไอโอดีน / แอลกอฮอล์ล้างแผล / น้ำเกลือล้างแผล

    • กลุ่มยาบำรุงร่างกาย – ยาเม็ดวิตามันซี / ยาเม็ดวิตามินรวม

    • กลุ่มยาบรรเทาปวดลดไข้ – ยาเม็ดพาราเซตามอล / พลาสเตอร์ติดบรรเทาอาการแก้ปวด

  5. ห้ามจำหน่ายสินค้าไม่มี อย. มอก.

    เครื่องหมาย อย. หมายถึงผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้การผ่านเกณฑ์การตรวจสอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับ 6 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และวัตถุเสพติดที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เครื่องหมาย มอก. คืออะไร ?

    มอก. ย่อมาจากคำว่า ‘มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม’ หมายถึง ข้อกำหนดทางวิชาการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุดครอบคลุมสินค้า ได้แก่ สินค้าอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ สิ่งทอ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น หากจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่าน มอก. มีโทษจำคุก 1 เดือน ปรับสูงถึง 50,000 บาท

  6. ห้ามจำหน่ายน้ำมันขวดแบ่งขาย เกินปริมาณกำหนด

    ร้านจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรายย่อย เป็นกิจการที่สามารถประกอบได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มีหลักเกณฑ์ ดังนี้ร้านค้าที่หรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดสามารถจัดเก็บได้ปริมาณไม่เกินที่กำหนด

    1. น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ฯลฯ ร้านค้าจัดเก็บเพื่อจำหน่ายได้ไม่เกิน 40 ลิตร

    2. น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟปานกลาง ได้แก่ น้ำมันก๊าด น้ำมันเชื้อเพลิง ร้านค้าจัดเก็บเพื่อจำหน่ายได้ไม่เกิน 227 ลิตร

    3. น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟน้อย ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ ร้านค้าจัดเก็บเพื่อจำหน่ายได้ไม่เกิน 454 ลิตร

  7. ห้ามจำหน่ายสินค้าหนีภาษี

    ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปซื้อ รับจำนำ หรือรับของไว้ ซึ่งรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 243 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ครึ่งเท่า แต่ไม่เกิน 4 เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ

  8. ห้ามจำหน่ายน้ำหอมขวดแก้วที่ไม่มีฉลาก

    การจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางปลอม เช่น น้ำหอมขวดแก้วที่ไม่มีฉลาก แล้วแปะสติ๊กเกอร์แบรนด์ดัง การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของแบรนด์นั้น จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
    การเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องดูแลร้านค้ามีสิ่งที่ต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และข้อที่ควรระวัง หากไม่อยากโดนจับ หรือ โดนปรับกัน หวังว่าพ่อค้าแม่ค้าที่อ่านบทความนี้จะได้ความรู้ที่นำไปใช้ในการดูแลร้านค้าและระวังไม่ให้ทำผิดกฎหมายโดยที่ไม่รู้ตัวกัน

แหล่งอ้างอิง

https://db.oryor.com

http://www.cbwmthai.org/scale.aspx

https://www.doeb.go.th/knowledge/new_oil_law.htm

แหล่งที่มา:

https://www.rantiddao.com